คุณแม่มือใหม่

สธ.ห่วง พ่อแม่เลี้ยงทารกผิดๆ ส่งผลต่อสุขภาพเด็ก ชี้…วัยนี้กินนมแม่ดีที่สุด

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หวั่นพ่อแม่ไม่มีความรู้ในการเลี้ยงทารก เสี่ยงส่งผลกระทบต่อสุขภาพตามมา ย้ำวัยทารกและเด็กเล็กควรได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือนและกินต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัย จนถึง 2 ปี ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและสร้างภูมิคุ้มกันโรค

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวในสังคมออนไลน์แชร์รูปเด็กเล็กพร้อมระบุข้อความว่าที่แสดงให้เห็นว่าเด็กดื่มน้ำกระท่อมที่บรรจุอยู่ในขวดนมนั้นนับเป็นการเลี้ยงลูกที่ไม่ถูกต้องและเป็นอันตรายสำหรับเด็ก เพราะการให้เด็กเล็กได้รับสารเสพติดหรือสารที่เป็นพิษสามารถจัดได้ว่าเป็นการทารุณกรรมและละเมิดสิทธิเด็กรูปแบบหนึ่ง และกฎหมายไทยจัดให้กระท่อมอยู่ในกลุ่มยาเสพติดประเภทที่ 5 ใบของต้นกระท่อมจะมีสารเสพติดชื่อ ไมทราไจนีน ซึ่งมีฤทธิ์ต่อสมองคล้ายฝิ่น เป็นผลเสียต่อสมองและร่างกายที่กำลังเจริญเติบโตของเด็ก ดังนั้น การเลี้ยงดูเด็กไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ที่ดูแลลูกด้วยตนเอง หรือพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือในกลุ่มผู้เลี้ยงดูเด็กที่ไม่ใช่พ่อแม่ จึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง โดยทารก 0 – 6 เดือน ควรได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน และควรให้กินจากเต้าเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก ซึ่งในน้ำนมแม่ถือเป็นอาหารที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับลูกมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต พัฒนาสมอง จอประสาทตา ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

“นมแม่ในระยะ 1-7 วันแรก จะมีหยดน้ำนมที่เรียกว่า หัวน้ำนมหรือโคลอสตรัม ถือเป็นยอดอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารครบถ้วน อีกทั้งเป็นช่วงที่น้ำนมแม่มีภูมิคุ้มกันสูงสุด เด็กควรได้กินหัวน้ำนมเพราะเปรียบเสมือนได้รับวัคซีนหยดแรกของชีวิต เพราะเด็กแรกเกิดจะยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองได้ ทารกที่ได้ดื่มนมแม่ จึงมีภูมิต้านทานในการต่อต้านเชื้อโรค และช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ เช่น การติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ลดภาวะเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ หอบหืด หูอักเสบ เป็นต้น จากนั้นเมื่อเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ระบบย่อยและดูดซึมอาหารพัฒนาได้ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว จึงให้เริ่มกินอาหาร ที่เหมาะสมตามวัย เช่น กล้วยน้ำว้า ไข่แดง ข้าว ผัก ผลไม้ และสารอาหารอื่นๆ ควบคู่กับการกินนมแม่ต่อเนื่องไปจนถึงอายุอย่างน้อย 2 ขวบ ซึ่งอาหารตามวัยที่ดีและมีประโยชน์จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดีของเด็กตามมาด้วย” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว

ข้อมูล : กรมอนามัย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น