คุณแม่มือใหม่

เทคนิคการปั๊มนมแม่ “สไตล์แม่นุ้ย”

Working Mom ปั๊มให้ลูก กับประสบการณ์ตลอด 2 ปีแห่งการปั๊มของคุณแม่สายปั๊มล้วน เมื่อมีตัวช่วยที่ดี ความ Happy ก็เกิดขึ้น

หลังฟื้นตัวจากการผ่าคลอด พอที่จะลุกนั่งได้ นุ้ยก็เริ่มกระตุ้นน้ำนมด้วยวิธีการปั๊มนม ไม่เน้นว่าน้ำนมจะต้องออกมาทันที แต่เป็นการกระตุ้นเพื่อให้น้ำนมเร่งการผลิต ปั๊มทุกๆ 2-3 ชม. ระหว่างรอน้องมาเข้าเต้าค่ะ

เมื่อน้องมาเข้าเต้าพยายามฝึกการเข้าเต้าให้ถูกท่า เพื่อให้สะดวกต่อคุณแม่ สลับข้างให้น้องดูดในแต่ละมื้อ ไม่เน้นว่าต้องให้ข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น พยายามเข้าเต้าทั้ง 2ข้าง โดยใช้เวลาเท่าๆกัน ทั้งนี้ คลีนิคนมแม่ในรพ.จะช่วยคุณแม่เรื่องนี้ได้อย่างดีเยี่ยมเลยค่ะ

หลังจากเข้าเต้าแล้ว หากพอมีเวลาว่าง เช่น ลูกหลับหรือมีคนช่วยดูลูก ก็ปั๊มนมหลังเข้าเต้าต่ออีกสักหน่อยเพื่อเป็นการเคลียร์เต้านมไม่ให้มีน้ำนมค้าง ทั้งนี้ ยังเป็นการหลอกร่างกายเราว่า ปริมาณน้ำนมไม่พอ ต้องผลิตออกมาอีกนะ แถมลดการเสี่ยงท่อน้ำนมตันด้วยค่ะ ในการปั๊มนมหลังลูกเข้าเต้าจะได้น้ำนมปริมาณที่ไม่เยอะมาก ก็เก็บสะสมแล้วเทรวมกันเก็บเป็นสต็อกได้ค่ะ

หมั่นทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น โปรตีนจากเนื้อปลา น้ำขิง หัวปลี ฟักทอง เนื้อสัตว์ต่างๆที่มีประโยชน์ เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำนมและให้น้ำนมมีปริมาณของสารอาหารที่จำเป็นกับลูก ปัจจุบันมีนวัตกรรมการบริโภคสำหรับคุณแม่ให้เลือกเยอะมาก สารพัดอย่างเลย เช่น วิตามินกระตุ้นน้ำนม/เพิ่มน้ำนม น้ำหัวปลีสำเร็จรูป รสชาติอร่อยๆเยอะมาก แม้แต่ ขิงอบแห้ง ที่เป็น snack time ให้กับคุณแม่กินกับน้ำชาหัวปลีอุ่นๆ ทำให้ผ่อนคลาย แถมเพิ่มน้ำนมด้วย เลือกตามความสะดวกและเหมาะสมของตัวเองเลยค่ะ

หากเป็นคุณแม่นักปั๊ม เป็น working mom แบบนุ้ย หรือบางท่านสะดวกที่จะปั๊มนมให้ลูกทานมากกว่าการเข้าเต้า ก็สามารถใช้วิธีการเดียวกันได้ในการกระตุ้นน้ำนม ทั้งนี้ ก่อนการปั๊มนมทุกครั้ง แนะนำให้ดื่มน้ำประมาณ 1 แก้ว เพื่อช่วยลดอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย กรณีที่น้ำนมออกมาเยอะ อาจทำให้เพลียได้ น้ำธรรมดา น้ำเย็น ดื่มได้หมดเลยค่ะ

ก่อนปั๊มนม นุ้ยใช้เทคนิคการปั่นจี๊ดที่หัวนม โดยการนวดคลึงที่บริเวณหัวนม ให้เต้านมรู้สึกคัดตึง บางครั้งอาจมีน้ำนมซึมออกมา ทำจี๊ดข้างละ 1-2 นาทีตามที่สะดวก การปั่นจี๊ดที่บริเวณหัวนม โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งนวดๆ คลึงๆ จะช่วยให้หัวนมนิ่มขึ้น ปั๊มนมแล้วจะไม่รู้สึกเจ็บและยังเป็นการช่วยให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้นด้วย เมื่อรู้สึกว่าเต้าคัดแล้วก็เริ่มปั๊มได้เลยค่ะ

นอกจากการใช้นิ้วมือของคุณแม่ปั่นจี๊ด นุ้ยเองก็อาศัยเครื่องปั๊มนมในการทำจี๊ดเช่นเดียวกัน โดยการเลือกโหมดกระตุ้นน้ำนม ใช้โหมดนี้ราวๆ 2-3 นาทีแรก และเข้าโหมดปั๊มนมปกติ ใช้ความระดับความแรงดูดน้ำนมในระดับความถนัดของแต่ละคน บางคนใช้ดูดเบาๆและเขยิบไปแรงขึ้น สำหรับนุ้ย จะใช้ความแรงในการปั๊มนมเพียงระดับเดียว เพื่อเป็นการถนอมเต้านมแม่ ไม่ให้เจ็บปวดเกินไป เมื่อปั๊มได้ 10-12 นาทีก็เปลี่ยนมามาใช้โหมดกระตุ้นน้ำนมหรือทำจี๊ดต่อประมาณ 2 นาที และสลับปั๊มปกติจนครบ 30 นาที หรือครบรอบปั๊มค่ะ

การปั๊มนมล้วนโดยไม่เข้าเต้าเป็นภารกิจที่เรียกได้ว่า ติดตัวคุณแม่แน่นหนึบก็ว่าได้นะคะ เพราะถ้าหากเลยรอบปั๊มไป หรือ การปั๊มแบบไม่เคลียร์เต้า มีน้ำนมค้าง อาจทำให้คุณแม่ปวดเต้าจนป่วยได้ พยายามจัดรอบการปั๊มให้ดี เลือกเครื่องปั๊มนมที่เหมาะสมกับเรา น้ำหนักเบา รองรับการปั๊มได้ 6-8 รอบ / วัน แบตทนทาน เสียงเงียบ เจอตัวช่วยดีๆแบบนี้ มีกำลังแรงกาย กำลังแรงใจปั๊มนมได้ตามเป้าที่เราหวังไว้เลยค่ะ

One thought on “เทคนิคการปั๊มนมแม่ “สไตล์แม่นุ้ย”

  1. ทศพล พูดว่า:

    บ้านนี้ให้นมลูกมา 5 ปีกว่าจะ 6 ปีแล้วครับ
    2 คนโตตอนนี้ 5 ขวบ 11 เดือนยังเข้าเต้าคุณแม่อยู่บ้างครับตื่นนอนบ้างก่อนนอนบ้างแต่ละวันส่วนเวลาที่เหลือก็จะเป็นนมสต๊อกของเด็กๆไป
    บ้านนี้ไม่เน้นทำนมสต๊อกให้เด็กๆครับเน้นให้เด็กๆเข้าเต้าตั้งแต่เกิดมาจนถึงปัจจุบันนี้เลย
    ไม่ได้ตั้งใจทำนมสต๊อกให้เด็กๆไว้เยอะครับทำไปทำมาวันละ 1 ขวดบ้าง 2 ขวดบ้าง (ขวดละ 8 ออน)
    ทำไปทำมายอดสูงสุดที่เก็บไว้ให้เด็กๆคือ 2880 ขวด
    เริ่มทำตั้งแต่เด็กๆอายุได้ 3 อาทิตย์มาหยุดตอนเด็กๆ 4 ขวบครับ
    นมสต๊อกทำเอาไว้เผื่อให้เด็กๆไปกินที่โรงเรียนกับบางช่วงเวลาที่คุณแม่อาจจะให้นมน้องไม่ได้จับเต้าด้วยเหตุผลทางสุขภาพและการแพทย์
    มาเห็นผลเอาปีนี้ครับเมื่อตอนต้นปีคุณแม่ตั้งท้องน้องคนที่ 3 กับ 4 ของบ้าน ได้ฝาแฝดผู้หญิง 2 ท้องเลยครับงานนนี้นมสต๊อกของเด็กๆเลยได้ใช้งานอย่างเต็มที่เอาก็ช่วงนี้นี่เอง 2 คนเล็กเพิ่งคลอดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ก็ทำเหมือนเดิมเลยครับเน้นให้เด็กๆเข้าเต้าเป็นหลักและถ้าคุณแม่ว่างและมีเวลามากพอไม่เหนื่อยมากจนเกินไปก็ค่อยทำนมสต๊อกให้เด็กๆเหมือนตอนสมัย 2 คนโตครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น